" สามร้อยยอด "

ดินแดนปฏิบัติธรรมตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
เมืองสุนาปรันตะ

นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
“ความสุข (อื่น) ยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี”

– พระพุทธเจ้า –

พระปุณณสุนาปรันตเถระ

(พระอรหันต์ผู้เป็นเอหิภิกขุองค์แรกของไทย)
พระสาวกคนไทยในสมัยพุทธกาล

          ก่อนพบพระศาสดานั้นท่านมีชื่อว่าบุญ มีน้องชาย 1 คน และน้องสาว 2 คน อาชีพค้าขาย อาศัยอยู่ในชนบทซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อว่า สุนาปรันตชนบท โดยชนบทนี้เป็นสถานที่ห่างไกลและรู้จักกันว่าเป็นดินแดนป่าเถื่อน พื้นที่สุนาปรันตชนบทนั้นกว้างใหญ่ทางใต้ตั้งแต่เมืองปราณบุรีในปัจจุบัน อาณาเขตกว้างไกลถึงเพชรบุรี ราชบุรี สระบุรี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เรียกว่าสุนาปรันตเช่นกัน

          เมื่อนายบุญเดินทางไปค้าขายที่ชมพูทวีป เดินทางถึงเมืองสาวัตถี ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้ามีจิตเลื่อมใสศรัทธายิ่ง เมื่อจัดการเรื่องส่วนตัวเรียบร้อยแล้วจึงขอบวชกับพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา มีพระอานนท์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุบาลีเถระให้สรณศีล ได้นามว่า ปุณณะ

          ครั้นบวชแล้วและปฏิบัติธรรมด้วยความเพียรเท่าไร ท่านก็ยังไม่สามารถเข้ากรรมฐานได้อย่างที่ตั้งใจ จึงทูลขอกรรมฐานกับพระศาสดาและขอกลับมาเจริญกรรมฐานที่ท่านให้ที่สุนาปรันตชนบทซึ่งเป็นที่สัปปายะ (สบาย เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม) สำหรับท่าน

ขอรับกรรมฐานจากพระศาสดา แล้วกลับมายังสุนาปรันตชนบท
ทูลขอพระกรรมฐาน

          ท่านพระปุณณะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระเชตะวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้วพึงเป็นผู้เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุณณะ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดีกล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น ดูกรปุณณะ เพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯลฯ ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นยินดีกล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็บังเกิดขึ้น ดูกรปุณณะเพราะความเพลินเกิดขึ้น จึงเกิดทุกข์ ฯ

          ดูกรปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ ดูกรปุณณะ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดีไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น เรากล่าวว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป ดูกรปุณณะ เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ดูกรปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึงไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ ฯ

ปุณณสูตร

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น เพราะความเพลินเกิดขึ้น ทุกข์จึงเกิด ฯลฯ

ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต     มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ    มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา    มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย

มีธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น เพราะความเพลินเกิดขึ้น ทุกข์จึงเกิดฯ

ดูกรปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ

ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต     มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ     มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา     มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย

มีธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ

ดูกรปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึงไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ ฯ

พระเถระเที่ยวหาสถานที่อันเป็นสัปปายะ (เหมาะแก่การปฏิบัติ)

          ในอรรถกถากล่าวว่า ท่านอยู่ที่สุนาปรันตชนบท 4 แห่งคือ อันดับแรก ท่านเข้าไปยังแคว้นสุนาปรันตะ ถึงภูเขาชื่อว่าอัพพุหัตถะ แล้วเข้าไปบิณฑบาตยังวานิชคาม (เมืองเพชรบุรี บริเวณวัดพลิบพลีในปัจจุบัน) น้องชายจำท่านได้จึงถวายภิกษากล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านอย่าไปในที่อื่น จงอยู่แต่ในที่นี้เท่านั้น ให้ท่านรับคำแล้ว ให้อยู่ในที่นั่นระยะหนึ่ง

          วัดเพชรพลี เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 10 ไร่

          วัดพลิบพลีตามชื่อเมืองที่พระโสณณะได้แนะนำพระนางสิริงามตัวเทวี พระมเหสีพระเจ้าตวันธิราชว่าควรสร้างเมืองเพื่อให้คนระลึกถึง พระปุณณะ ผู้นำเอาพระพุทธศาสนามาเผยแพร่

ภาพ : สุชีรา สิมมา (9 ธันวาคม 2564)

เมื่อพระปุณณะทูลพระพุทธเจ้าว่า ตนจะเดินทางไปยังสุนาปรันตชนบท  พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้า
หากชาวสุนาปรันตชนบททำร้ายพระปุณณะ ท่านจะทำอย่างไร

– ถ้าชาวสุนาปรันตชนบทด่า บริภาษ พระปุณณะจะคิดว่า ยังดีนักหนาที่ไม่ได้ประหารเราด้วยฝ่ามือ
– ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท ประหารด้วยฝ่ามือ พระปุณณะจะมีความคิดว่า ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน
– ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท ประหารด้วยก้อนดิน พระปุณณะจะมีความคิดว่า ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้  
– ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท ประหารด้วยท่อนไม้ พระปุณณธจะมีความคิดว่า ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาสตรา
– ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท ประหารด้วยศาสตรา พระปุณณะจะมีความคิดว่า ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาสตราอันคม
– ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท ปลิดชีพตนเสียด้วยศาสตราอันคม พระปุณณะจะมีความคิดว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาสตราสังหารชีพอยู่ เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาสตราสังหารชีพแล้ว

สามร้อยยอด อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ภาพ : สุชีรา สิมมา (15 ธันวาคม 2564)

          แต่นั้น ท่านก็ได้ไปวิหารชื่อสมุทคิรี (เขาสามร้อยยอดในปัจจุบัน) ในที่นั้นมีที่จงกรมซึ่งสร้างกำหนดด้วยแผ่นหินตัดเหล็ก ไม่มีใครที่สามารถจะจงกรมที่จงกรมนั้นได้ในที่นั้น คลื่นในสมุทรมากระทบที่แผ่นหินตัดเหล็กกระทำเสียงดัง พระเถระคิดว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มนสิการพระกรรมฐานอยู่ ขอจงมีความผาสุก จึงอธิษฐานทำสมุทรให้เงียบเสียง

          ต่อจากนั้น ก็ได้ไปยังมาตุลคิริ (ถ้ำเขาหลวงในปัจจุบัน) ในที่นั้นมีฝูงนกหนาแน่น ทั้งเสียงก็ต่อเนื่องเป็นอันเดียวกันทั้งกลางคืนและกลางวัน พระเถระคิดว่า ที่นี้ไม่เป็นที่ผาสุก จากนั้นจึงได้ไปยังวิหาร ชื่อว่าสมกุลการาม (อุทยานเขาหินงู ราชบุรี ในปัจจุบัน) วิหารนั้นไม่ไกลนักไม่ใกล้นักจากวานิชคาม สมบูรณ์ด้วยคมนาคม สงัดเงียบเสียง พระเถระคิดว่า ที่นี้ผาสุกจึงได้สร้างที่พักกลางคืนที่พักกลางวัน และที่จงกรมเป็นต้นในที่นั้นแล้วเข้าจำพรรษา

ถ้าเขาหลวง อยู่บนเขาหลวง อ.เมืองเพชรบุรี จ. เพชรบุรี

พระเถระช่วยน้องชายจากพวกอมนุษย์

          ภายหลัง ณ วันหนึ่ง ในภายในพรรษานั้นนั่นเอง พวกพ่อค้า 500 คนบรรทุกสินค้าลงในเรือด้วยหวังว่าจะไปสู่สมุทรโน้น ในวันที่ลงเรือน้องชายของพระเถระให้พระเถระฉันแล้ว รับสิกขาบทในสำนักของพระเถระ ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าสมุทรไว้ใจไม่ได้ ขอท่านทั้งหลายพึงนึกถึงเราดังนี้แล้วขึ้นเรือไป เรือแล่นไปด้วยความเร็วสูง ถึงเกาะน้อยแห่งหนึ่ง พวกมนุษย์คิดกันว่า พวกเราจะหาอาหารเช้ากินดังนี้แล้วลงที่เกาะ ก็ในเกาะนั้นสิ่งอะไรๆ อื่นไม่มี มีแต่ป่าไม้จันทน์เท่านั้น

          ลำดับนั้น คนๆ หนึ่งเอามีดเคาะต้นไม้ รู้ว่าเป็นจันทน์แดง จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พวกเราไปสู่สมุทรโน้นเพื่อต้องการลาภ ก็ขึ้นชื่อว่าลาภยิ่งไปกว่านี้ไม่มี ปุ่มประมาณ 4 นิ้วได้ราคาตั้งแสน พวกเราบรรทุกสินค้าอันควรจะบรรทุกให้เต็มด้วยไม้จันทน์ คนเหล่านั้นได้กระทำเหมือนอย่างนั้นแล้ว

          พวกอมนุษย์ผู้สิงอยู่ในป่าไม้จันทน์โกรธแล้วคิดว่า คนเหล่านี้ทำป่าไม้จันทน์ของพวกเราให้ฉิบหาย พวกเราจักฆ่าคนพวกนั้น ดังนี้แล้วกล่าวว่า เมื่อคนเหล่านั้นถูกฆ่าในที่นี้แล ซากศพแต่ละซากศพทั้งหมดก็จักปรากฏมีในภายนอก เราจักจมเรือของพวกมันเสียกลางสมุทร ครั้นในเวลาที่คนเหล่านั้นลงเรือไปได้ครู่เดียวเท่านั้น พวกอมนุษย์เหล่านั้นทำอุปาติกรูป (รูปผุดเกิดฉับพลัน) ปรากฏขึ้นเองแล้วแสดงรูปที่น่าสะพึงกลัว พวกมนุษย์กลัว นอบน้อมต่อเทวดาของตน กุฏุมพีชื่อจุลลปุณณะ น้องชายของพระเถระ ได้ยืนนอบน้อมพระเถระด้วยระลึกว่า ขอพี่ชายจงเป็นที่พึ่งของเรา

          ได้ยินว่า ฝ่ายพระเถระนึกถึงน้องชายในขณะนั้นเหมือนกัน รู้ว่าคนเหล่านั้นเกิดความย่อยยับจึงเหาะไปยืนอยู่ตรงหน้า พวกอมนุษย์พอเห็นพระเถระ คิดว่า พระผู้เป็นเจ้าปุณณเถระมา ก็หลบไป รูปที่ผุดขึ้นก็สงบไป พระเถระปลอบใจคนเหล่านั้นว่า อย่ากลัวไปเลย ดังนี้แล้วถามว่าพวกนั้นประสงค์จะไปไหน คนเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พวกกระผมจะไปสถานที่ของพวกผมนั่นแหละ พระเถระเหยียบกาบเรือแล้วอธิษฐานว่า ขอเรือจงไปสู่ที่พวกเขาปรารถนา

          พวกพ่อค้าไปถึงที่ของตนแล้ว บอกเรื่องนั้นแก่บุตรและภรรยา อธิษฐานว่า พวกเราขอถึงพระเถระนั้นว่าเป็นที่พึ่ง ทั้ง 500 คนพร้อมด้วยภรรยา 500 คนตั้งอยู่ในสรณะ 3 รับปฏิบัติตนเป็นอุบาสก

          แต่นั้นก็ขนสินค้าลงในเรือ จัดเป็นส่วนหนึ่งสำหรับพระเถระแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ นี้เป็นส่วนของท่าน พระเถระกล่าวว่า อาตมาไม่มีกิจในส่วนหนึ่ง ก็พระศาสดาพวกท่านเคยเห็นแล้วหรือ

          พวกพ่อค้า: ไม่เคยเห็นขอรับ
          พระปุณณเถระ: ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงสร้างโรงกลม เพื่อพระศาสดาด้วยส่วนนี้ พวกท่านจงเฝ้าพระศาสดาด้วยอาการอย่างนี้
          คนเหล่านั้นรับว่า ดีละขอรับ จึงเริ่มเพื่อจะสร้างโรงกลมด้วยส่วนนั้นและด้วยส่วนของตน

          ได้ยินว่า พระศาสดาได้ทรงกระทำโรงกลมนั้นให้เป็นโรงฉัน จำเดิมแต่กาลเริ่มทำมา พวกมนุษย์ผู้รักษาเห็นรัศมีในกลางคืนได้ทำความสำคัญว่า เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่มีอยู่ อุบาสกทั้งหลายทำโรงกลมและเสนาสนะสำหรับสงฆ์เสร็จแล้ว ตระเตรียมเครื่องประกอบทานแล้วแจ้งแก่พระเถระว่า ท่านผู้เจริญ กิจของตนพวกผมทำแล้ว ขอท่านจงกราบทูลพระศาสดาเถิด ในเวลาเย็นพระเถระไปยังกรุงสาวัตถีด้วยฤทธิ์ อ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกคนชาววานิชคามประสงค์จะเฝ้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดกระทำอนุเคราะห์ แก่คนเหล่านั้นเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว พระเถระกลับมาที่อยู่ของตนตามเดิม

พวกชาวสุนาปรันตะประกาศตัวเป็นอุบาสก
พระศาสดาเสด็จมาโปรดชาวแคว้นสุนาปรันตชนบท

          ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระอานันทเถระมาตรัสว่า อานนท์ พรุ่งนี้พวกเราจักเที่ยวบิณฑบาตในวานิชคาม แคว้นสุนาปรันตะ เธอจงให้สลากแก่ภิกษุ 499 รูป พระเถระรับพระดำรัสแล้ว จึงได้บอกความนั้นแก่ภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอภิกษุผู้เดินทางไปทางอากาศจงจับฉลาก

          วันนั้น พระกุณฑธานเถระได้จับฉลากเป็นที่หนึ่ง

          ฝ่ายพวกคนชาววานิชคามคิดว่า ได้ยินว่าพรุ่งนี้พระศาสดาจักเสด็จมา จึงกระทำมณฑปที่กลางบ้าน แล้วตระเตรียมโรงทาน

          พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำระพระวรกายแต่เช้าตรู่ เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงนั่งเข้าผลสมาบัติ บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนแล้ว ท่านรำพึงว่านี้อะไรกัน จึงเห็นพระศาสดาเสด็จไปยังแคว้นสุนาปรันตะ จึงตรัสเรียกวิสสุกัมเทพบุตรมาสั่งว่า พ่อเอ้ย วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ประมาณ 300 โยชน์ ท่านจงสร้างเรือนยอด 500 หลัง จงประดิษฐานเตรียมไว้ยอดซุ้มประตูพระวิหารพระเชตวัน

          วิสสุกรรมเทพบุตรก็ได้จัดตามเทวโองการ เรือนยอดของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เป็น 4 มุข ของพระอัครสาวก 2 มุข นอกนั้นมีมุขเดียว

          พระศาสดาเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จเข้าไปเรือนยอดที่ใกล้ ในบรรดาเรือนยอดอันตั้งไว้ตามลำดับ มีภิกษุ 499 รูป นับตั้งแต่พระอัครสาวกเป็นต้นไป จึงได้เข้าไป ได้มีเรือนยอดว่างอยู่หลังหนึ่ง เรือนยอดทั้ง 500 หลัง ลอยละลิ่วไปในอากาศ

          พระศาสดาเสด็จถึงสัจจพันธบรรพต (บริเวณเขาพระพุทธบาทสระบุรี ในปัจจุบัน) ได้พักเรือนยอดไว้บนอากาศ

          ดาบสผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่าสัจจพันธ์ที่บรรพตนั้น ให้มหาชนถือมิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้ถึงความเป็นเลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศอยู่ แต่ธรรมอันเป็นอุปนิสสัยแห่งพระอรหัตตผลในภายในของท่านย่อมรุ่งโรจน์เหมือนประทีปลุกโพลงในภายในฉะนั้น

          พระศาสดาครั้นทรงเห็นดังนั้นแล้ว จึงคิดว่าเราจักแสดงธรรมแก่เขา ดังนี้แล้วจึงเสด็จไปแสดงธรรม

          ในเวลาจบเทศนา พระดาบสบรรลุพระอรหัต อภิญญามาถึงท่านพร้อมด้วยพระอรหัตที่บรรลุนั่นเอง ท่านเป็นเอหิภิกษุ ทรงไว้ซึ่งบาตรและจีวรอันสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ ก็เข้าไปเรือนยอด (หลังที่ว่าง)

          พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ 500 รูปผู้อยู่ที่เรือนยอด เสด็จไปวานิชคาม กระทำเรือนยอดไม่ให้มีใครเห็นแล้ว เสด็จเข้ายังวานิชคาม พวกพ่อค้าถวายทานแด่สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วนำพระศาสดาไปยังกุฏาคาร พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปยังโรงกลม มหาชนต่างบริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้วสมาทานองค์อุโบสถ ถือเอาของหอมและดอกไม้เป็นอันมากกลับมายังอาราม (ถ้ำฤาษีเขางู ปรากฏเป็นพระพุทธฉายที่ผนังถ้ำในปัจจุบัน) เพื่อต้องการฟังธรรม พระศาสดาทางแสดงธรรมเกิดเป็นประมุขที่ผูกเป็นหุ่นของมหาชน โกลาหลเพราะพระพุทธองค์ได้มีเป็นอันมาก

          พระศาสดาประทับอยู่ในที่นั้นนั่นเองตลอด ๗ วันเพื่อสงเคราะห์มหาชน พออรุณขึ้นก็ได้ปรากฏอยู่ในมหาคันธกุฎีนั้นเอง ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา 7 วัน การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์ 84,000 พระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น 7 วัน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในวานิชคาม ให้พระปุณณเถระกลับด้วยตรัสสั่งว่า เธอจงอยู่ในที่นี้แล ได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีอันมีอยู่โดยลำดับ

 

พระพุทธองค์ทรงโปรดสัจจพันธ์ดาบสและชาวสุนาปรันตะ

พระพุทธฉายภายในผนังถ้ำฤาษีเขางู ตั้งอยู่ที่อุทยานหินเขางู ตำบล เกาะพลับพลา อำเภอเมือง ราชบุรี, ราชบุรี

ภาพ : สุชีรา สิมมา วันที่ 9 ธันวาคม 2564

พระพุทธองค์ทรงโปรด
นิมมทานาคราช

          พระยานาคนัมมทากระทำการต้อนรับพระศาสดา ให้เสด็จเข้าไปสู่ภพนาค ได้กระทำสักการะต่อพระรัตนตรัย พระศาสดาแสดงธรรมแก่พระยานาคนั้น แล้วออกจากภพนาค พระยานาคนั้นอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงประทานสิ่งที่ควรสละแก่ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเจดีย์คือรอยพระบาทไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เจดีย์คือรอยพระบาทนั้น เมื่อคลื่นหลากมาๆ ย่อมปิด เมื่อคลื่นไปแล้วย่อมเปิดออก ความถึงพร้อมด้วยมหาสักการะได้มีแล้ว

          พระศาสดาเสด็จออกจากที่นั้น แล้วเสด็จไปยังสัจจพันธบรรพต ตรัสกะสัจจพันธภิกษุว่า เธอทำให้มหาชนหยั่งลงไปในทางอบาย เธอจงอยู่ในที่นี้แหล่ะ ให้ชนเหล่านั้นสละลัทธิเสียแล้วให้ดำรงอยู่ในทางแห่งพระนิพพาน

          ฝ่ายพระสัจจพันธภิกษุนั้นทูลขอข้อที่ควรประพฤติ พระศาสดาแสดงพระเจดีย์ คือรอยพระบาท (พระพุทธบาทสระบุรี) ที่หลังแผ่นหินแท่งทึบ เหมือนรอยตราที่ก้อนดินเหนียวเปียก แต่นั้นก็เสด็จ กลับพระวิหารเชตวันตามเดิม

          ท่านพระปุณณะให้ชาวสุนาปรันตชนบทแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ 500 คน ได้ทำวิชชา 3 ให้แจ้ง

บรรลุพระอรหันต์
พระเถระปรินิพพาน

           เมื่อท่านมีพรรษาได้ 25 พรรษา ก็ปรินิพพาน ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพรรษาได้ 44 พรรษา ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อว่าปุณณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทอย่างย่อนั้น ทำกาละแล้ว กุลบุตรนั้นมีคติเป็นอย่างไร มีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะ เป็นบัณฑิต กล่าวคำจริง กล่าวธรรมสมควรแก่ธรรม มิได้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรชื่อว่าปุณณะปรินิพพานแล้ว ฯ

         มหาชนกระทำการบูชาสรีระของพระเถระ 7 วัน ให้รวบรวมไม้หอมเป็นอันมาก ให้ฌาปนกิจแล้วเก็บเอาธาตุทำพระเจดีย์ (สถานที่บรรจุอัฐิพระปุณณเถระ พระพุทธฉาย ถ้ำฤาษีเขางู)

สถานที่บรรจุอัฐิพระปุณณเถระในปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่อุทยานหินเขางู พระพุทธฉายถ้ำฤาษีเขางู ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี

ภาพ : สุชีรา สิมมา วันที่ 9 ธันวาคม 2564

อ้างอิง : ปุณณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ 18
              อรรถกถา ปุณณสูตรที่ 5
              Youtube ช่องสารคดี ประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อ เรื่อง อรหันต์องค์แรกของไทย
              สมัยเมืองทองสุวรรณภูมิโบราณ
              http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-poonna-sunaparanta.htm

ชุมชนของเรา

ถ้ำแก้ว
อุทยานแห่งชาติ
สามร้อยยอด
พระรัตนเจดีย์ 16:9
รัตนเจดีย์
มูลนิธิอุทยานธรรม
005 หาดสามร้อยยอด
สถานที่น่าสนใจ

ที่สุดของทุกสิ่งคือความบริสุทธิ์

Diremit mundi mare undae nunc mixtam tanto sibi. Nubes unda concordi. Fert his. Recessit mentes praecipites locum caligine sui egens erat. Silvas caeli regna.

สถานที่น่าสนใจ

Fuerat aestu carentem habentia spectent tonitrua mutastis locavit liberioris. Sinistra possedit litora ut nabataeaque. Setucant coepyterunt perveniunt animal! Concordi aurea nabataeaque seductaque constaque cepit sublime flexi nullus.